ชูเทคโนโลยีชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพิ่มคุณภาพและผลผลิตมันแกว เกษตรกรรายได้พุ่งกว่าหมื่นบาทต่อไร่
- รายละเอียด
- หมวด: ข่าวหน้าเว็บไซต์
- เผยแพร่เมื่อ วันพฤหัสบดี, 19 พฤษภาคม 2565 11:21
- เขียนโดย รณรงค์ รุ่งเรือง
- ฮิต: 652
ชูเทคโนโลยีชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพิ่มคุณภาพและผลผลิตมันแกว เกษตรกรรายได้พุ่งกว่าหมื่นบาทต่อไร่
.
กรมวิชาการเกษตร ลุยขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดเสี้ยนดินเพิ่มผลผลิตมันแกวพืชพื้นถิ่นจังหวัดมหาสารคามมีคุณภาพ ได้มาตรฐานปลอดภัย แนะใช้เทคโนโลยีครบวงจรพร้อมใส่ไรโซเบียมเสริมปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิตมันแกวได้ถึง 7 พันกิโลกรัม/ไร่ สร้างรายได้เพิ่มเกษตรกรนับหมื่นบาท
.
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2565 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้นำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการผลิตมันแกวคุณภาพดีได้มาตรฐานและปลอดภัยสู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างอัตลักษณ์เด่นพื้นถิ่นจังหวัดมหาสารคามขับเคลื่อนไปสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวในท้องถิ่นอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีการประสานงานในรูปเครือข่ายทั้งด้านวิชาการ ปัจจัยการผลิต การแปรรูป การตลาด และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตมันแกวมีคุณภาพ ขาว หวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยจากสารพิษ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่ามันแกวและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์เด่นพื้นถิ่นของจังหวัดมหาสารคามได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้มันแกว
.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ได้นำเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยซึ่งเป็นผลงานวิจัยของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรผู้ปลูกมันแกวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งประสบปัญหาเสี้ยนดินเข้าทำลายผลผลิต โดยใช้เนื้อมะพร้าวแก่คลุกกับไส้เดือนฝอยใส่กระปุกเจาะรูทำเป็นกับดักอาหารเหยื่อล่อเสี้ยนดินฝังไว้ในดินบริเวณแปลงปลูกมันแกวเมื่อมันแกวอายุประมาณ 45-60 วัน เสี้ยนดินได้เข้ามากินอาหารในกับดักอาหารเหยื่อล่อที่คลุกไส้เดือนฝอยไว้ ส่งผลให้เสี้ยนดินที่กินอาหารในกับดักตายภายใน 1วัน และจากผลการดำเนินงานในแปลงของเกษตรกรโดยการปลูกแบบเกษตรกรทั่วไป พบว่าการฝังกับดักอาหารเหยื่อล่อร่วมกับไส้เดือนฝอย จำนวน 4 จุด ต่อพื้นที่ 42 ตร.ม. สามารถลดความเสียหายของผลผลิตมันแกวได้ 35 % เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีการป้องกันกำจัด และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,989-4,080 กก./ไร่ ในขณะที่ไม่ใช้ไส้เดือนฝอยเกษตรกรจะได้รับผลผลิตเพียง 2,593-2,652 กก./ไร่เท่านั้น โดยคิดเป็นเงินที่ลดความเสียหายได้ถึง 2,268-5,016 บาทต่อไร่ การใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยในการควบคุมเสี้ยนดินจึงเป็นวิธีที่สามารถปรับใช้กำจัดและควบคุมเสี้ยนดินได้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายของผลผลิตมันแกว
.
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรสามารถนำไปใช้ป้องกันกำจัดเสี้ยนดินที่เข้า¬ทำลายผลผลิตมันแกวได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าการนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมาผลิตมันแกวทั้งระบบ ได้แก่ การจัดการเตรียมแปลงปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม การใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมอัตรา 1,000 กก./ไร่ ยังสามารถเพิ่มผลผลิตมันแกวได้สูงถึง 7,776 กก./ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวิธีการเดิมของเกษตรกรที่ไม่ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม 16 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 10,232 บาท/ไร่ ซึ่งนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ชื่นชมการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง อบต.บรบือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคามและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีการนำผลงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำขยายผลไปสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรขับเคลื่อนการผลิตมันแกวคุณภาพดีได้มาตรฐานและปลอดภัยสู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างอัตลักษณ์เด่นพื้นถิ่นโดยทางจังหวัดมีแผนที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียนมันแกวบรบือ จังหวัดมหาสารคามเป็นพืชอัตลักษณ์เด่นพื้นถิ่นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดมหาสารคามต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม:>>>https://www.thailandplus.tv/archives/535140