สารวัตรเกษตร สวพ.4 บุกจับ วัตถุอันตรายผิดกฎหมาย จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
- รายละเอียด
- หมวด: ข่าวหน้าเว็บไซต์
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 27 มีนาคม 2567 14:53
- เขียนโดย กิตติภัทร บุคจำปา
- ฮิต: 159
เมื่อวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2567 โดยนายขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 มอบหมายให้นายอิทธิพล บ้งพรม ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ สวพ.4 พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สวพ.4 ร่วมกับนางสาวรัชดา ปรัชเจริญวนิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา นางพรศุลี อิสรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง นางรัตติยา พวงแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ และคณะ เข้าตรวจค้น ยึด อายัด เก็บตัวอย่างวัตถุอันตราย วัตถุต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุอันตราย รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 2535 จำนวน 6 จุด ประกอบด้วย อำเภอปากช่อง อำเภอด่านขุนทด อำเภอสีคิ้ว อำเภอเสิงสาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ จากการปฏิบัติการลงพื้นที่ปราบปรามร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามที่ได้รับแจ้งพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย จำนวน 27 รายการ เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 และวัตถุอันตรายชนิดอื่นๆ ที่ลักลอบนำมาจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 3,100,000 บาท เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ได้เก็บตัวอย่าง รายการสิ่งของที่ตรวจยึด เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตร กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สวพ.4 กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึด อายัดตัวอย่าง นำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยเบื้องต้นพบประเด็นความผิดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไม่ขออนุญาตครอบครองและจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับจากการปฏิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดำเนินการประกอบกิจการปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปตามกฏหมายและนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมทั้งแนวทางการควบคุมปัจจัยการผลิตของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายรพีภัทร จันทรศรีวงศ์) อย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด