เกี่ยวกับโครงการ

โครงการ “ QR Coce หอมแดง”

         กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการผลิตหอมแดงคุณภาพให้ปราศจากโรคและแมลง  เพื่อให้ได้หอมแดงของเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษมีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกหอมแดงไปยังอินโดนีเซีย จนได้พื้นที่ปลอดศัตรูพืชหรือ Pest Free Area (PFA) ผ่านการรับรองจากหน่วยงาน IAQA ของอินโดนีเซีย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4  จึงได้จัดระบบฐานข้อมูลเกษตรกรผลิตหอมแดงคุณภาพ โดยใช้ระบบ QR Code ซึ่งเป็นระบบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ผลิตในแปลงเกษตรกร ตลอดจนการรวบรวมและคัดบรรจุซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานการส่งออก เพื่อให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผลผลิตหอมแดงคุณภาพจากจังหวัดศรีสะเกษ 

โครงการ “ ปลูกผักกลางนา ทุ่งกุลายิ้มได้”

       วัดป่าทุ่งกุลา บ้านโพนตูม ตำบลทุ่งทอง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดโดยท่านเจ้าอาวาสวัด (พระครูวินัยธรธีระพงษ์  ธีรปัญโญ) มีความประสงค์ที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างภายในวัด ซึ่งมีแหล่งน้ำทำการเกษตรให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างความสามัคคีภายในหมู่บ้านโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง จึงได้รวบรวมสมาชิกภายในหมู่บ้านเพื่อสร้างกลุ่มผลิตพืชผัก แต่ชาวบ้านในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก จึงขาดความรู้และประสบการณ์ในการผลิตพืชผัก

       ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 (สวพ.4) กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชผัก ให้แก่เกษตรกรผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การฝึกอบรม การจัดทำแปลงเรียนรู้   การตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ตลอดจนการวางแผนการผลิตพืชผัก โดยได้มีการเชื่อมโยงกับตลาดพืชผักของห้างเทสโก้ โลตัส และพรานเฟรช ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน และสวพ.4 ได้จัดระบบฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ผลิตผักบุ้ง GAP โดยใช้ระบบ QR code ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ผลิตในแปลงเกษตรกร เพื่อให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผลผลิตแก่ผู้บริโภคผักกลางนาทุ่งกลาฯ จังหวัดร้อยเอ็ด